ติดต่อ-สอบถาม 081-6142826

ขมิ้น ( Curcuma longa Linn )

 

เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเช่นเดียวกับขิงและไพล ส่วนเหง้าจะมีเนื้อสีเหลืองจัด นิยมใช้เป็นเครื่องแต่งสีและกลิ่น หรือผสมในครื่องสำอาง

ขมิ้น ( Curcuma longa Linn )
สรรพคุณเครื่องเทศต่างๆ

ขอนำเสนอสรรพคุณและวิธีการใช้ของเครื่องเทศและสมุนไพรบางชนิดที่หยิบได้ง่ายและใช้สะดวก มาเป็นข้อมูลกับท่านผู้อ่านด้วย ดังนี้
ขมิ้น ( Curcuma longa Linn )
ลักษณะ   คือ  เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเช่นเดียวกับขิงและไพล  ส่วนเหง้าจะมีเนื้อสีเหลืองจัด นิยมใช้เป็นเครื่องแต่งสีและกลิ่น หรือผสมในครื่องสำอาง
วิธีใช้     คือ  คือทุบใส่ทั้งชิ่นหรือ ผ่านกรรมวิธี ล้าง ตาก อบ บด  ผสมในเครื่องแกงต่างๆ
สรรพคุณทางสมุนไพร    เป็นยาลดกรด ขับลมแก้ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ฯลฯ
ขมิ้น ( Curcuma longa Linn )
ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma longa Linn., Curcuma domestica Valeton.
ชื่อวงศ์  Zingiberaceae
ชื่ออังกฤษ  Turmeric
ชื่อท้องถิ่น  ขมิ้นแกง, ขมิ้นชัน, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว, ขี้มิ้น, ตายอ, สะยอ, หมิ้น

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
1.  ฤทธิ์ขับลม
ฤทธิ์ขับลมของขมิ้นเป็นผลของน้ำมันหอมระเหย (1)
2.  ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะ (2,3)    โดยกระตุ้นการหลั่ง mucin มาเคลือบ (4,5)    และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ (5)
3.  สารสำคัญในการออกฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะ
สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin   ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัมสามารถกระตุ้นการหลั่ง mucin ออกมาเคลือบกระเพาะ (6)    แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ (7, 8)
4.   ฤทธิ์ลดการอักเสบ
มีผลทดลองพบฤทธิ์ลดการอักเสบของผงขมิ้น น้ำคั้น (3) สารสกัดขมิ้นด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์ (9, 10)    สารสกัดด้วยขมิ้น แอลกอฮอล์ และน้ำ (10)
5.   สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ
สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สาร curcumin และอนุพันธุ์ ซึ่งลดการอักเสบได้ดี (10-18)    เมื่อเปรียบเทียบกับ phenylbutazone    พบว่ามีฤทธิ์พอ ๆ กันในกรณีการอักเสบเฉียบพลัน    ส่วนกรณีการอักเสบเรื้องมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ฤทธิ์ทำให้เกิดแผลน้อยกว่า phenylbutazone (13)    การทดสอบฤทธิ์ของ curcumin และอนุพันธุ์ที่สกัดจากขมิ้น พบว่า desoxycurcumin ออกฤทธิ์แรงที่สุด (15)    ได้มีผู้ทดลองสังเคราะห์อนุพันธ์ต่างๆ ของ curcumin และนำมาทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา   พบว่า sodium curcuminate และ tetrahydrocurcumin ออกฤทธิ์ดีกว่า curcumin (14)    Curcumin จะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ เป็นสัดส่วนกับขนาดที่ใช้จนถึงขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อให้สูงกว่านี้ฤทธิ์จะลดลง (15)    ต่อมามีรายงานว่า curcumin ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ luekotrine B4 ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ (19)    นอกจาก curcumin น้ำมันหอมระเหยในหัวขมิ้นยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบอีกด้วย (20, 21)    โดยมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในระยะแรกของการอักเสบ  โดยผ่านกระบวนการยับยั้ง trypsin หรือ hyaluronidase (22)    จากฤทธิ์ต้านการอักเสบของ curcumin และน้ำมันหอมระเหยดังกล่าว ขมิ้นจึงมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะได้
6.   ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน
น้ำมันหอมระเหยจากหัวขมิ้นมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน (21)
7.   ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดขมิ้น และน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการแน่นจุกเสียด หรือท้องเสีย (23-29)    ขมิ้นสามารถยับยั้งการเกิดกรดเนื่องจาก Lactobacillus acidophilus และ L. plantarum (28)    และยังออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแก๊สเนื่องจากเชื้อ Escherichia coli (29)
นอกจากนี้ขมิ้นยังยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (23, 26, 27)   สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ curcumin (23, 25, 29-31) p-tolylmethylcarbinol (32) และน้ำมันหอมระเหย (27, 30)
8.   ฤทธิ์ขับน้ำดี
ขมิ้นมีฤทธิ์ขับน้ำดี (33)
9.   สารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับน้ำดี
สารสำคัญในการออกฤทธิ์นี้ คือ curcumin (34-39) และ p-tolyl-methylcarbinol (40)    ซึ่งสามารถขับน้ำดี และกระตุ้นการสร้างน้ำดี    Sodium curcuminate    เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มน้ำดีเกือบ 100%   โดยไม่มีผลต่อความดันโลหิต และการหายใจ (37)    เมื่อฉีด sodium curcuminate เข้าหลอดเลือดในขนาด 5, 10, 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าเพิ่มปริมาณน้ำดี แต่ลดปริมาณของแข็ง เพิ่มการขับ bile salt, billirubin และ cholesterol แต่กรดไขมันไม่เปลี่ยนแปลง (36)    นอกจากนี้ cineole ที่พบในน้ำมันหอมระเหย ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการขับน้ำดีด้วย (41)     จึงทำให้การย่อยดีขึ้นเป็นผลให้อาการจุกเสียดบรรเทาลง
10.  ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
ในบางรายโดยเฉพาะผู้เป็นโรคกระเพาะมักจะมีอาการปวดเกร็งร่วมด้วย ขมิ้นมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ (3,40)    โดยออกฤทธิ์ต้าน acetylcholine, barium choride และ serotonin (3)    และยังมีผู้พบการลดการหดตัวกล้ามเนื้อเรียบมดลูก จึงช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็ง (42)
11.  ฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบ
เนื่องจากตับเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำย่อยหลายชนิด การที่ curcumin สามารถป้องกันการอักเสบเนื่องจากสารพิษ จึงเป็นกระบวนการทางอ้อมในการลดอาการจุกเสียด (43, 44)
12.  การทดลองทางคลินิกใช้รักษาอาการแน่นจุกเสียด
12.1  ได้มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 160 คน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ (45)    การทดลองในผู้ป่วยที่ปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล รับประทานครั้งละ 3 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง (รวม 4 กรัม) พบว่าได้ผลดีเช่นกัน (46)
12.2  ได้มีการทดลองผลการรักษาแผลในกระเพาะในคน พบว่าให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลผงขมิ้น 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่า 5 คน หายใน 4 อาทิตย์ และ 7 คน หายใน 4-12 อาทิตย์ (47)
13.   การทดลองทางคลินิกใช้รักษาอาการท้องเสีย
รายงานจากอินโดนิเซียพบว่าขมิ้นสามารถใช้รักษาอาการท้องเสียได้ (48)
14.   ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา
สารสกัดขมิ้นด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคผิวหนัง (49-51) และสารสกัดด้วย chloroform ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน (51)    ยังมีผู้พบฤทธิ์ของผงขมิ้น (52) น้ำมันหอมระเหย (27, 50, 52-54) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (27, 50, 52-54) โดยเฉพาะเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก Microsporum, Trichophyton, Epidermophyton (27, 50)
15.   การทดลองทางคลินิกใช้รักษาแผล
ได้มีผู้ทดลองรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือน phenylbutazone (55)
16.   การทดสอบความเป็นพิษ
16.1  การทดสอบความเป็นพิษในหนูขาว พบว่าทั้งขมิ้นและ curcumin ในขนาดที่สูงว่าที่ใช้ในคน 1.25-125 เท่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการเจริญเติบโต และระดับสารเคมีในเลือด (56)
16.2  การทดสอบพิษเฉียบพลันในหนูเมื่อให้ขนาดต่างๆ ไม่พบความผิดปกติต่อหนู (57-59)
16.3  เมื่อติดตามคนไข้ที่ทดลองทางคลินิก 30 ราย ไม่พบอาการผิดปกติ (47)
16.4  เมื่อให้ Sodium curcuminate ในขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางปาก ใต้ผิวหนัง หรือช่องท้อง ไม่พบอันตราย แต่ถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดจะเป็นพิษ ทำให้สัตว์ทดลองตายได้ ส่วนการให้ทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลัน ไม่พบพิษ (58)
17.   ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
ผลการทดสอบไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimurium สายพันธุ์ TA 98 และ TA 100 (60-64)    ทั้งขมิ้นและ curcumin ไม่ก่อกลายพันธุ์เมื่อผสมในอาหารหนู 0.5 และ 0.015% ตามลำดับ (65, 66)
การใช้ขมิ้นรักษาอาการแน่นจุกเสียด
1.   ใช้ผงขมิ้นซึ่งบรรจุในแคปซูล รับประทาน 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (47)
2.   ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ   3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา (67)
การใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย
ใช้ผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา (67)
การใช้ขมิ้นรักษาแผล, แมลงกัดต่อย
1.  ใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู 2-3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ คนจนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล (67)
2.  นำขมิ้นชันมาล้างให้สะอาด แล้วตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำใส่แผล (67)
3.  เอาขมิ้นชันผสมกับน้ำปูนใสเล็กน้อย และผสมสารส้มหรือดินประสิว พอกบริเวณที่เป็นแผล และแก้เคล็ดขัดยอก (67)
การใช้ขมิ้นรักษากลาก เกลื้อน
ผสมผงขมิ้นกับน้ำ แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน 2 ครั้งต่อวัน (68, 69)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : www.fareedaherb.com
ผู้ลงบทความ : [email protected] อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน ,www.fareedaspices.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ขมิ้น ( Curcuma longa Linn ) "